นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในการแถลงข่าวการระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ วันนี้ ว่า กระทรวงฯ จะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 รายการ (ยูอาร์แอล) ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 รายการ โดยให้ความมั่นใจว่า มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล กระทรวงฯ ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
โดยที่ผ่านมา กระทรวงฯ มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เป็นจำนวน 1,276 ยูอาร์แอล อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่ายังอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งศาล 33 คำสั่งของช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 63 ขณะที่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ทีผ่านมาบริษัท Facebook, Inc. ได้ดำเนินการปิดกั้นครบแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ช่วงเวลาประมาณเกือบ 23.00 น.
“กระทรวงฯ ขอย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีคำสั่งศาลอย่างถูกต้อง มิได้เป็นการข่มขู่ใดหรือกลั่นแกล้งอย่างใด” นายพุทธิพงษ์กล่าว
สำหรับกระแสข่าวที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับการเตรียมฟ้องร้องรัฐบาลไทยของทางเฟซบุ๊กนั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยดูได้จากหมายศาลที่ยื่นไปให้ปิดเพจต่างๆ จำนวน 1,129 รายการ โดยทางเฟซบุ๊กก็ปิดให้ตามกรอบเวลา แต่อาจจะเกิดความตกใจกับการยื่นไป เพราะครั้งนี้มีการกำหนดว่า หากไม่ดำเนินการให้ภายใน 15 วัน ทางเราจะต้องบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งหนึ่งใน 1,129 รายการที่ยื่นและปิดไปแล้วก็มีเพจ Royalist Marketplace ด้วย
ที่เรายื่นแจ้งเตือนให้ปิดไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเรื่องทางการเมือง หรือจาบจ้วงหมื่นเบื้องสูงเท่านั้น แต่ดำเนินการตามกฎหมายและคำสั่งศาล ที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการยุยงปลุกปั่น การหลอกลวงฉ้อโกง การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เว็บการพนัน เป็นต้น และไม่ได้ปิดเฉพาะเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เพจที่ติดตามหลักสิบ หลักร้อยก็ไม่เว้น เพราะยึดกรอบตามกฎหมาย ไม่มีการกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เพจแสดงความเห็นต่างทางการเมืองสามารถดำเนินการได้ ถ้าไม่ผิดข้อกฎหมาย ไม่เข้าข้อกฎหมาย เราก็ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันนายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ สถิติระหว่างวันที่ 15-24 ส.ค. 63 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาจำนวน 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย จำนวน 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย จำนวน 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ จำนวน 133 รายการ
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ
สำหรับตัวเลขรวมที่ได้รับการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่31 กรกฎาคม -24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ และตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ, อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ
นายพุทธิพงษ์ เผยว่า น่าชื่นชมที่ประชาชนตื่นตัวให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดจำนวนเนื้อหา/ข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมบนเครือข่ายโซเชียล/ออนไลน์ โดยมีข้อน่าสังเกตว่าแม้จะมีการแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังการตรวจสอบแล้ว พบว่าแนวโน้มของรายการที่เข้าข้อกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย การลบ หรือการสั่งปิด มีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากหลายรายการเป็นการรับแจ้งเบาะแสที่ซ้ำซ้อนกัน หรือไม่เข้าข้อกฎหมาย ถือเป็นความสำเร็จของการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสาธารณะในการดูแลสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ หากดูจากสถิติย้อนหลัง พบว่าช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ได้รับแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย จำนวน 1,050 รายการ (ยูอาร์แอล) ตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายซึ่งเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง
จากนั้นในวันที่ 7-17 ส.ค. 63 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแส จำนวน 3,083 รายการ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย คือมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 1,395 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของข้อมูลที่มีการแจ้งเบาะแส
ขณะที่ สัปดาห์ล่าสุดมีข้อมูลที่ผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีรายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะส่วนใหญ่เป็นรายการซ้ำซ้อน และไม่เข้าข่าย แสดงว่ามีประชาชนจำนวนมากตื่นตัวที่จะแจ้งเบาะแสมาที่เพจเรา (อาสา จับตา ออนไลน์) เมื่อพบเห็นสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม จึงพบรายการซ้ำซ้อนจำนวนมาก และสัดส่วนของเนื้อหา/เว็บที่ผิดกฎหมายก็ลดลง ทั้งนี้นับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการสืบหา และเก็บหลักฐานการกระทำผิดในสื่อออนไลน์ โดยตั้งกฎเหล็กไว้ว่าการปิดกั้น จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง และปิดเว็บ ลบเนื้อหา หรือส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี รวมถึงให้มีการจัดนิติกรเวร เป็นผู้แจ้งความในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
“ประชาชนสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลเบาะแส ร้องเรียน รวมทั้งขอคำปรึกษาเมื่อพบเห็นเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายได้ที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ทาง inbox m.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์กล่าว
"การตรวจสอบ" - Google News
August 26, 2020 at 01:33PM
https://ift.tt/34zIhs4
ดีอีเอส ยันไม่เลือกปฏิบัติ แจ้งปิดโซเชียลผิดกม. - ช่อง 7
"การตรวจสอบ" - Google News
https://ift.tt/2V8hayf
0 Comments:
Post a Comment