การประชุมนัดแรกของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาการสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่มีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เกิดขึ้นในวันหยุดนักขัตฤกษ์ 28 ก.ค. โดยคาดว่าจะใช้เวลา 7 วันเพื่อหาข้อเท็จจริงที่จะตอบสังคม
นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานชุดนี้ เป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน พร้อมระบุว่าจะเรียกสำนวนคดีนายวรยุทธจากสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้มาประกอบการพิจารณา
ส่วนถ้าสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คณะกรรมทำงานชุดนี้จะสามารถสั่งให้รื้อฟื้นคดีได้หรือไม่นั้น นายประยุทธบอกว่าเร็วเกินไปที่จะพูดแบบนั้น สิ่งที่ถามมาเป็นเพียงข้อคาดการณ์ ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้
สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังมีคำสั่งไม่ฟ้องบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง กระทั่ง 26 ก.ค. นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อสส. จึงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 7 คนให้ตรวจสอบกรณีนี้ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุผลในการสั่งพิจารณาคดีอย่างไร
"ให้คณะทำงานเร่งตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว และเมื่อมีผลคืบหน้าประการใด จะได้แจ้งให้บุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุดและประชาชนทราบโดยทั่วกัน" คำสั่ง อสส. ระบุไว้ตอนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามนายประยุทธ์ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการทำงานบกพร่องจะลงโทษกับพนักงานอัยการผู้สั่งคดีหรือไม่ ขอให้คณะทำงานพิจารณาก่อน
วันเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจำนวน 10 คน มี พล.ต.อ. ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมกำหนดกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง
คณะกรรมการของ ตร. ก็ใช้เวลาวันหยุดเรียกประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบการทำงานเช่นกัน
อย่างไรก็ดีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย นักเคลื่อนไหว องค์กรต่าง ๆ รวมถึงอดีตตำรวจก็ยังตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของกระบวนการการสั่งพิจารณาคดีของอัยการ
อดีตตำรวจ
ในรายการถามตรง ๆ กับจอมขวัญ ทางช่องไทยรัฐออนไลน์ ทั้ง พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ และ พ.ต.ต. ชวลิต เลาหอุดมทรัพย์ อดีตข้าราชการตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ต่างก็ตั้งคำถามต่อกระบวนการการสั่งพิจารณาคดีของอัยการ
พ.ต.ต. ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมพิสูจน์หลักฐานเหตุนี้เมื่อปี 2555 บอกว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่การคำนวณความเร็วตอนแรกออกมาที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ตอนหลังมีพยานมาแย้งว่าความเร็วรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแตกต่างกันมากทั้ง ๆ ที่สูตรคำนวณความเร็วรถมีอยู่เพียงสูตรเดียว
พ.ต.อ. วิรุตม์ เสริมว่า ตัวเลขความเร็วใหม่ที่พยานแย้งขึ้นมาว่าไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับว่านายวรยุทธไม่ได้ขับที่ฝ่าฝืนกฎจราจรเขตกรุงเทพฯ แต่เมื่อตัวเลขต่างกันเช่นนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล
เขาบอกว่าฝ่ายที่คำนวณความเร็วผิด "ต้องติดคุก รับผิดชอบ" เพราะการคำนวณความเร็วไม่ควรจะคลาดเคลื่อนเกิน 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในช่วงท้ายรายการ พ.ต.ต. ชวลิต บอกว่าเพิ่งทราบมาไม่กี่วันนี้ว่าผู้ที่กลับคำให้การเรื่องความเร็วเป็นหนึ่งในทีมพิสูจน์หลักฐานเอง แต่เขาย้ำว่านั่นไม่ใช่การกลับคำให้การในฐานะองค์กร แต่เป็นในฐานะเจ้าตัวเพียงคนเดียว
นิติศาสตร์ มธ.-องค์กรต้านคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้สำนักอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ :
1. ชี้แจงการดำเนินคดีอาญาโดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา
2. ตรวจสอบว่าการดำเนินคดีและการใช้ดุลยพินิจดังกล่วถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใส หรือไม่
คณาจารย์จำนวน 31 ราย ซึ่งมี ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต รวมอยู่ด้วย ระบุว่า แถลงการณ์นี้มี "เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย"
นอกจากนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า "กรณีดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการสร้างจุดด่างพร้อยให้กับภาพลักษณ์ของประเทศ ยังเป็นการตอกย้ำ ถึงความล้มเหลวของกระบวนการรักษาความยุติธรรมแห่งชาติ สังคมจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร หากผู้รักษาความยุติธรรมไร้ซึ่งจุดยืนที่สังคมจะพึ่ง"
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องขอคำอธิบายที่กระจ่างจากทั้งสำนักอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและความเป็นนิติรัฐเพียงใดหรือไม่ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาความสั่นคลอนของกระบวนยุติธรรมจากท่านนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน อย่าปล่อยให้ความศักดิ์สิทธิ์ความยุติธรรมถูกลบหลู่ ดูแคลนจากทั้งสังคมไทยและสังคมโลก"
"การตรวจสอบ" - Google News
July 28, 2020 at 03:03PM
https://ift.tt/2Eq8eiX
บอส อยู่วิทยา : คณาจารย์นิติศาสตร์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ อดีตตำรวจ เรียกร้องอัยการ-ตำรวจ ชี้แจง - บีบีซีไทย
"การตรวจสอบ" - Google News
https://ift.tt/2V8hayf
0 Comments:
Post a Comment